สูตรลัด ปั้นแบรนด์ ครีม
1 Views
พุธที่ 16 มิถุนายน 2564
Admin
ส่องธุรกิจผลิตครีม... ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจากที่ไหน ใครๆ ก็มี “ครีม” เป็นของตัวเองได้
ระดับความเซ็กซี่ของพริตตี้ หรือความสดใสน่ารักของเน็ตไอดอล ไปจนถึงแคปชั่นเก๋ๆ มีผลไม่น้อยต่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เขาทั้งหลายถืออยู่ในโลกโซเชียล ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นเจ้าของเองหรือไม่ จะได้ใช้จริงหรือเปล่า แต่ในทางการค้า เมื่อลองได้ “โชว์” แล้ว สิ่งที่จะตามมาแน่ๆ คือ “กำไร”
ลองนึกดูว่า ในวันหนึ่งเฉพาะในโซเซียลเน็ตเวิร์ค เราเห็นสินค้าที่อยู่ในหมวดเครื่องสำอาง โดยเฉพาะครีม เร่ขายตามนิวส์ฟีดเท่าไร จำนวนครั้งที่เห็นอาจจะนับไม่ถ้วน และนั่นก็ได้แปรผันตรงกับจำนวนผลิตภัณฑ์ครีมในตอนนี้ที่จะมีเจ้าของเป็น “ใครก็ได้”
ทำครีมได้ง่ายนิดเดียว
“เยอะมากกกก” สุณิศา คงเขียว หรือ ปุ้ย เจ้าของแบรนด์วัย 25 เอ่ยถึงจำนวนโรงงานหรือบริษัทที่รับผลิต ไม่ว่าจะอยู่เหนือ ใต้ ออก ตก ก็หาที่ผลิตได้ไม่ยาก หรือแม้จะอยู่ไกลขนาดไหน ก็ยังมีบริการส่งของให้ถึงที่
แม้ตัวจะอยู่สงขลา แต่ปุ้ยก็สั่งผลิตครีมจากโรงงานที่สมุทรปราการ เพราะได้ศึกษาเป็นอย่างดี และเลือกโรงงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของเธอได้
“ง่ายค่ะ ทำครีมไม่ได้ยาก เริ่มจากต้องหาแล็บ ที่เชื่อถือได้ ครีมดี ใช้เห็นผล อาจจะหาจากครีมยี่ห้ออื่นที่ขายดี แล้วหาแหล่งผลิต” ปุ้ยที่เพิ่งจะตั้งธุรกิจขายครีมของตัวเองบอก
“โรงงานเป็น one-stop service มีบริการทุกอย่างพร้อม จะมีข้อจำกัดบางอย่าง ถ้าเราต้องการ cost เท่านี้เราก็จะเลือกไม่ได้ทั้งหมด เราอาจจะกำหนดราคาของสูตรครีมไว้คร่าวๆ เพราะว่าครีมมันมีหลายเกรด ในส่วนของกระปุก เราก็เลือกที่มันดูดี แต่ว่าไม่ได้แพงมาก เพราะถ้ามาก เราก็ต้องไปบวกกับลูกค้า ซึ่งลูกค้าไม่สามารถจะซื้อครีมราคาแพงได้ขนาดนั้น เพราะว่าตอนนี้ครีมเยอะมากในตลาด” ปุ้ยเล่า
หากจะสั่งผลิตครีม โรงงานส่วนใหญ่จะมีรวมแพ็คเกจให้เลย สิ่งที่จะต้องจ่ายก็คือ ค่าบรรจุ ค่าออกแบบ โดยจากการสังเกตของปุ้ย รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ขายดีก็จะมีอยู่ไม่กี่แบบ ถ้าเป็นครีมก็จะเป็นกระปุกธรรมดา ถ้าเป็นเซรั่มก็จะเป็นชนิดที่มีหัวปั๊ม หรือถ้าเป็นครีมกันแดดก็จะเป็นทั้งแบบกระปุกและหลอด
ปุ้ยบอกว่า สิ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจลงทุนทำครีมของตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เพราะเธอได้เห็นการเติบโตของแบรนด์ธรรมดาๆ จากเป็นเจ้าของหน้าร้านขายเครื่องสำอางทั่วไปมาก่อน เมื่อเห็นว่า หลายคนได้กำไรจากครีม (ที่ไม่ใช่แบรนด์ดัง) ได้อย่างดีเยี่ยม เธอจึงไม่ลังเลที่จะศึกษาธุรกิจนี้ดู
“เหมือนเวลาเราเรียน เราก็ศึกษาจากที่ศึกษาได้ ก็เสิร์ชยูทูบ เฟซบุ๊ค ทุกอย่างที่เป็นสื่อออนไลน์ มันมีบางเจ้า (โรงงาน) เขาใช้ยูทูบเป็นสื่อในการโฆษณา หาไม่ยากหรอก” ปุ้ยบอก แหล่งข้อมูลออนไลน์ได้ช่วยให้เธอกับเพื่อนหุ้นกันผลิตครีมออกมาแล้ว 3 ชนิด ในเวลา 1 เดือน ซึ่งเธอยอมรับว่า “ขายดีมาก” โดยคุณสมบัติและราคาที่เธอเลือกสั่งผลิตนั้นอยู่ในเกรดที่ไม่ต่ำ แต่ก็ไม่ได้สูงจนเกินไป
“มันแล้วแต่โดส (ของสาร) ว่าเราจะเลือกยังไง ถ้าเกรดต่ำสุดก็ประมาณ 4,000 ต่อตัวครีม 1 กิโลฯ อย่างนี้ก็มี แต่ส่วนมากเขาจะไม่ทำกัน เพราะว่าใช้แล้วมันจะไม่เห็นผล แค่ใช้ไปเรื่อยๆ ที่เขาจะใช้กันคือสารที่อยู่ในหลักหมื่นบาทต่อ 1 กิโลฯ” จากการศึกษาธุรกิจครีมของปุ้ยได้ข้อมูลมาอย่างนั้น
ถ้าสนใจจะผลิตครีม เพียงแค่เข้าไปติดต่อ ทางโรงงานหรือบริษัทก็จะรับผลิตให้หมด เริ่มตั้งแต่หลักสิบก็ผลิตได้แล้ว และบางแห่งยังรับทำ “มาร์เกตติง” ให้เสร็จสรรพพร้อมขายไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์
“ทำให้ได้ทุกโมเดล” อมรศักดิ์ อยู่เย็น เซลส์โรงงานรับผลิตครีมแห่งหนึ่งเอ่ย ไม่ว่าจะเป็นการขายทางเฟซบุ๊ค แฟนเพจ ไอจี ฟรีทีวี พริตตี้ เน็ตไอดอล ไปจนถึงซูเปอร์สตาร์ บริษัทก็จัดให้ได้ ขึ้นอยู่กับงบประมาณของเจ้าของแบรนด์ว่าจะตีตลาดไหน
ขอมา...จัดไป
“ปลายปี 58 ไวท์เทนนิงยังคงเป็นที่นิยมในการผลิต” อมรศักดิ์เผย และบอกว่า สารสกัดที่เป็นเทรนด์ตอนนี้หนีไม่พ้นของเกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสารใหม่ออกมาตลอด และเกิดความนิยมเป็นระยะๆ ส่วนอีกหนึ่งตัวชูโรงของครีมที่เจ้าของแบรนด์ (Local Brand) นิยมสั่งผลิตก็คือ สารจากธรรมชาติ (Natural)
“ภาพลักษณ์มันจะดูดีกว่า ลูกค้าจะดูว่าสกัดด้วยวิธีอะไร เพราะเขาต้องการไปทำตลาดของเขา เช่น น้ำแร่ สมุนไพร เกสรดอกไม้ มาแรง สมุนไพรไทยก็มา เพราะได้โชว์ความเป็นไทย” อมรศักดิ์เล่า
ปกติแล้วสารที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์ประเภทครีมมีหลายชนิดตามความต้องการของผู้ผลิตว่าจะเน้นที่คุณสมบัติอะไร ไม่ว่าจะเป็นผิวขาว ชะลอริ้วรอย เพิ่มความชุ่มชื้น ทั้งหมดนี้ล้วนมีให้เลือกช้อปในแคตตาล็อกของโรงงาน หรือจะพัฒนาต่อยอดสูตรก็ทำได้ตามที่ต้องการ ซึ่งต้นทุนในการมีแบรนด์ของตัวเองก็สตาร์ทในหลักพันเท่านั้น
“ถ้าอยากสร้างแบรนด์ไม่ยากเลย มี 2 กรณี ถ้าต้องการให้คิดสูตรเอง หรือมีตัวอย่างสินค้าที่ต้องการมาให้ เริ่มต้นที่ 5,000 บาท ในการพัฒนาสูตร ส่วนกรณีที่ 2 ทางบริษัทมีแคตตาล็อกสินค้าให้ลูกค้าเลือก ถ้าลูกค้าสนใจเอาสินค้าในแคตาล็อกไปสร้างแบรนด์ เริ่มต้นที่ 1,000 บาท ก็จดชื่อแบรนด์ได้แล้ว” ภญ. วรางคณา เพ็งปรีชา ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ ที่ดูแลในส่วนของการผลิตเครื่องสำอางของบริษัทแห่งหนึ่งบอก โดยแบรนด์ที่จะอยู่ “ยืด” ก็จะอยู่ในกลุ่มคลินิก เพราะมีลูกค้าตายตัว ส่วน “หน้าใหม่” ในวงการที่สร้างแบรนด์เองก็มีไม่น้อยที่หมุนวนมาลองตลาดสินค้าชนิดนี้
“สมมติมีมา 100 ราย อีกปีจะหายไปสัก 20 หมายถึง เลิกซื้อเลิกขาย ขายไม่เป็น ขายไม่ได้ ส่วนอีก 20 ก็จะมีเข้ามาใหม่” ภญ.วรางคณาบอกและยอมรับว่า การเลือกสูตรต่างๆ ที่อยู่ในแคตตาล็อกอาจทำให้บางแบรนด์มีสินค้าที่ใช้ส่วนผสมทุกอย่างเหมือนกันเป๊ะ เพราะฉะนั้นการจะขายได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะเอาไปโปรโมทต่ออย่างไร แต่หากลูกค้าอยากให้แตกต่างขึ้นอีกก็ทำได้ โดยการเพิ่มสารที่ต้องการให้เป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ตัวเอง หรือหากต้องการให้เทียบเท่า Counter brand ผู้ผลิตก็สามารถก๊อปปี้สูตรได้หมดจากฉลากสินค้า แต่ต้องเอาไปพัฒนาต่อในเรื่องของปริมาณสารที่ใช้ จากการประมาณของเธอ โรงงานที่รับผลิตครีมได้เช่นนี้คาดว่าจะมีประมาณ 2,000 แห่ง และมีเครื่องสำอางจดแจ้งเป็นแสนรายการต่อปี
“ลูกค้าที่กล้าๆ กลัวๆ ทุนน้อยก็จะลองเลือกของในแคตตาล็อกไปทำก่อน พวกทุนเยอะๆ การตลาดเก่งก็จะให้เราทำสูตรตามที่ตัวเองต้องการมาเลย” ภญ.วรางคณาบอก
องค์ประกอบหลักๆ ที่เจ้าของแบรนด์จะต้องตกลงกับผู้ผลิตก็คือ เนื้อครีม (Texture) เช่น อยากได้เหลว ใส ข้น ทาแล้วเปลี่ยนสี, สารที่ใส่เพื่อผลลัพธ์ต่างๆ (Active Ingredient) เช่น มอยส์เจอร์ไรเซอร์ วิตามิน และกลิ่น สี ก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งอมรศักดิ์ เซลล์โรงงานรับผลผลิตครีมบอกว่า ทั้งหมดนี้จะต้องเป็นไปตามไอเดียของเจ้าของแบรนด์ว่าต้องการคอนเซปต์อย่างไร หรือขายคนกลุ่มไหน
“เภสัชกร หมอก็เป็นลูกค้าของเราเช่นกัน แต่ไม่ใช่ลูกค้าหลัก กลุ่มที่เยอะจะเป็นเพศหญิง ช่วงอายุประมาณ 25-35 โดยเฉลี่ย ก็จะอยู่ที่กลุ่มอาชีพที่มีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้วสนใจสกินแคร์ รักสวยรักงาม” อมรศักดิ์บอก โดยปี 2558 ที่ผ่านมา มีผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นแล้วโดยบริษัทเขาประมาณ 600 ชนิด ในทุกๆ เกรด แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับกลางๆ ไม่ถูก ไม่แพงจนเกินไป
การตลาดต้องมา
การเลือกส่วนผสมและรูปร่างหน้าตาของครีมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดสูงหรือต่ำ ที่สำคัญคือ ต้องคิดให้ขาดว่า อะไรที่ “ขาย” ได้
“สารที่เลือกอาจจะไม่ได้เกรดสูงมาก อาจจะเน้นเชิงมาร์เกตติงเยอะ แต่จริงๆ ไม่ได้ใส่เยอะ เช่น วิตามินซีมีหลายอนุพันธ์ ชนิด A สิบเปอร์เซ็นต์อาจจะเท่ากับชนิด B สิบเปอร์เซ็นต์ ก็เลือกใช้อันที่สิบเปอร์เซ็นต์ เพราะดูเยอะกว่า ตอนขายผู้บริโภคไม่ได้สนใจว่าซี (อนุพันธ์) อะไร คุณภาพประมาณไหน เป็นเรื่องของมาร์เกตติงล้วนๆ” อมรศักดิ์บอก
ขั้นตอนการเลือกสารจนผลิตครีมออกมาแล้วเป็นเรื่องง่ายไปเลยเมื่อเทียบกับการคิดว่า จะขายอย่างไร จากทุกเสียงของคนในวงการนี้บอกตรงกันว่า เจ้าของแบรนด์ที่จะขายได้ต้องไม่ละเลย “การโฆษณา”
“ถ้าไม่โฆษณาก็ไม่มีใครใช้หรอก จะขายได้ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับโฆษณานี่แหละ มีลูกค้าซื้อเราไป 50 ขายหลอดละ 390 ขายดีมาก เพราะเขาโปรโมทสินค้าเป็น ขยันขาย”ภญ.วรางคณาบอก
สำหรับเจ้าของแบรนด์มือใหม่อย่าง ปุ้ย เลือกที่จะใช้ตัวเองเป็นพรีเซนเตอร์ เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ก็คือเพื่อนในโซเชียลเน็ตเวิร์คของเธอ และคิดว่า “พริตตี้” อาจจะไม่ใช่ตัวดึงดูดที่ดีเสมอไป
“บางคนก็จ้างพริตตี้ อันนี้เจอบ่อย พริตตี้ก็จะมีเรทตามความดัง แล้วเราก็ได้รูปเขามา รูปเขาก็ลงๆๆ ซ้ำๆ ได้เลย แต่ตอนนี้คนใช้พริตตี้เยอะ มันมีกระแสออกมาว่า พริตตี้ไม่ได้ใช้จริง คนเขาก็ไม่เชื่อ เพราะแบรนด์ไหนก็มีพริตตี้ถือ เราก็ลองศึกษาดู เขาบอกว่า การรีวิวที่ดีที่สุดก็คือเริ่มจากเรา” ปุ้ยจึงลองถ่ายรูปตัวเองหลายๆ มุมคู่กับครีมเอาไว้โพสต์ลงเฟซบุ๊คของตัวเอง และ แท็ก (tag) เพื่อน เพื่อให้โพสต์กระจายออกไป โดยโพสต์วันละ 10 ครั้งต่อวัน ซึ่งเธอบอกว่า ได้ผลมาก
“สำคัญกว่ารูปก็คือแคปชั่น แคปชั่นต้องน่าสนใจ ต้องอ่านแล้ว จริงเหรอ อย่างครีมกันแดด เราก็ต้องดึงจุดเด่นของครีมกันแดดของเรามา เช่น เบื่อไหม ทาครีมหลายๆ ชั้น ถ้าทาครีมตัวเลยแล้วผ่องเลย ไม่ต้องทารองพื้นดีกว่ามั้ย เราก็ดูจากคนที่เขาขายดี ว่าเขาพูดยังไง เราต้องหาให้ได้ว่า อะไรที่ทำให้ลูกค้าติด” ปุ้ยบอก และยกตัวอย่างให้ว่า ถ้าแบรนด์ไหนมีตัวแทนขายก็จะเห็นสินค้าในนิวส์ฟีดไม่ต่ำกว่าร้อยครั้ง และเพราะความชินตานี่เองที่เธอยอมรับว่า ทำให้ครีมขายได้
“มีอยู่แบรนด์นึง คือเขามีตัวแทนเยอะมาก เคยสังเกตการโพสต์ เขาก็โพสต์เยอะมากทั้งเจ้าของทั้งตัวแทน ตัวเจ้าของเป็นเด็กอายุ 21 ไม่ใช่เน็ตไอดอลด้วย ขายอยู่ 7 เดือน ได้ 30 ล้านแล้ว” ปุ้ยบอก
เสียงจากคนในวงการนี้อย่าง อมรศักดิ์ ยืนยันว่า กราฟการเติบโตของธุรกิจสกินแคร์นั้นไม่เคยตก มีแต่จะเพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาตลอด เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ โดยเจ้าของแบรนด์ก็จะเลือกผลิตตามเทรนด์นั้นๆ
จากนี้ไป เราอาจจะเห็น “สาร” ชื่อใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อเพิ่มคุณสมบัติของครีม แต่ก็ต้องดูให้ดีว่า ที่อวดอ้างยิ่งใหญ่นั้นถูกใส่ไว้แค่ในระดับไมโครกรัมหรือไม่
เพราะอย่าลืมว่า เครื่องสำอาง ก็คือเรื่องของการตลาด!!
ซื้อครีมให้ฉลาด
ปัจจุบันโรงงานที่รับผลิตครีมจะอยู่ในการควบคุมคุณภาพของ อย. แต่ก็ยังมีโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก ผู้บริโภคก็ควรจะเลือกซื้ออย่างชาญฉลาด ไม่หลงกลมาร์เกตติง โดย อมรศักดิ์ อยู่เย็น เซลล์โรงงานรับผลิตครีมแนะให้ดูส่วนประกอบของครีมที่ฉลากว่า ใส่สารสกัดอะไรบ้าง โดยสารสำคัญที่จะส่งผลต่อการใช้นั้นจะต้องไม่อยู่ในระดับล่างของตารางส่วนประกอบ เพราะถ้าใช่ จะหมายถึงมีปริมาณน้อยมาก ซึ่งจะใช้แล้วไม่ได้ผล แต่เป็นการใส่เพื่อให้เกิดผลทางการตลาดเท่านั้น นอกจากนี้ เรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็สำคัญ เพราะถ้าเป็นแบรนด์ที่ดี ก็จะไม่ยอมเสียเรื่องคุณภาพแน่นอน
ด้าน รศ.ดร.ภก.สมลักษณ์ คงเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ให้ดูที่การจดแจ้งกับ อย. และไม่โฆษณาเกินจริง เป็นหลัก
“ถ้าเกินโฆษณาเกินจริงกว่าที่เครื่องสำอางจะเป็น จะไม่แนะนำ แล้วก็เรื่องของการโอ้อวดสรรพคุณ เพราะเครื่องสำอางจะเป็นเรื่องของความสะอาดและความสวยงามเท่านั้น บำรุงผิวได้ แต่ถ้าบอกว่า ทำให้ตึง เด้ง นั้นไม่ใช่ หรือลึกถึงชั้นผิวเต่งตึง เข้าเซลล์ผิวหนัง ก็ไม่ใช่ เพราะความจริงแล้วคุณสมบัติของเครื่องสำอางไม่ได้ต้องการให้ไปออกฤทธิ์ที่บริเวณเซลล์ มันไม่ใช่ยา”
อ้างอิงเนื้อหา และรูปภาพจาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/684004